Pages

Wednesday, August 26, 2020

"ปิติ" กางแผนนำ TMB ฝ่าวิกฤต ตุนสภาพคล่อง-ตั้งสำรองเพิ่มรับหนี้เสียพุ่ง - ประชาชาติธุรกิจ

serenalisa.blogspot.com
ปิติ ตัณฑเกษม ซีอีโอ TMB
สัมภาษณ์

ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) ที่ยังอยู่ระหว่าง “เปลี่ยนผ่าน” ควบรวมกิจการกับธนาคารธนชาต ต้องเผชิญกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่หดตัวแรง จากพิษ “โควิด-19” นับเป็นความยากลำบากในการทำธุรกิจ เพราะต้องประคองทั้งลูกค้าและแบงก์ให้รอด โดยล่าสุด ในการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2563 ของธนาคาร เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา “ปิติ ตัณฑเกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี ได้ฉายภาพแผนการรับมือปัจจัยความไม่แน่นอนที่จะเข้ามากระทบในช่วงที่เหลือของปีนี้

ปีนี้สินเชื่อไม่โต-เสี่ยงติดลบ

โดย “ปิติ” ฉายภาพธุรกิจธนาคารในปี 2563 ท่ามกลางวิกฤตไวรัสโควิด-19ว่า ปีนี้ธนาคารคงไม่สามารถมุ่งเน้นการเติบโตของสินเชื่อ เพื่อเพิ่มรายได้อย่างที่ผ่าน ๆ มา ซึ่งได้แจ้งไปยังนักลงทุนสถาบันไปก่อนหน้านี้แล้ว ว่าการเติบโตของสินเชื่อปีนี้อาจเท่ากับ 0% และยังมีความเสี่ยงที่สินเชื่ออาจจะหดตัวเล็กน้อย เนื่องจากความต้องการใช้สินเชื่อที่ลดลง

“ในสถานการณ์แบบนี้การปล่อยสินเชื่อใหม่เติบโตได้ลำบาก เนื่องจากความต้องการสินเชื่อที่หดตัวลงในหลายธุรกิจหากเราไปเร่งปล่อยสินเชื่อในกลุ่มที่ยังมีความต้องการ แต่มีความเสี่ยงสูงก็จะมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้คืนในอนาคต”

ทว่า ในช่วงวิกฤตก็มีบางอุตสาหกรรมที่ยังสามารถเติบโตได้ อาทิ กลุ่มการแพทย์ กลุ่มพลังงาน และกลุ่มที่เกี่ยวข้องการโครงการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งธนาคารจะเน้นรุกปล่อยสินเชื่อกลุ่มดังกล่าวในระยะถัดไป

ทั้งนี้ ปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อของแบงก์ประกอบด้วย สินเชื่อรถยนต์ 30%สินเชื่อบ้าน 22% สินเชื่อเอสเอ็มอี7% อื่น ๆ (ธุรกิจขนาดกลางและใหญ่) 37% และสินเชื่อบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล 5%

เอ็นพีแอลส่อแตะ 3%

“ปิติ” กล่าวถึงแนวโน้มของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของแบงก์ว่า คาดการณ์ว่าเอ็นพีแอลจะปรับขึ้นต่อเนื่องในปี 2564 โดยในปีนี้คาดว่าจะสามารถพยุงได้ในระดับหนึ่ง จากไตรมาส 1/2563 ธนาคารมีลูกหนี้ที่ไหลตกชั้นเป็นหนี้เสียขั้นที่ 3 (NPL stage 3) เพิ่มขึ้นส่งผลให้เอ็นพีแอลปรับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 2.76% จึงมีการตัดขายหนี้(write-off) ออกไป ทำให้หนี้เอ็นพีแอลปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.34% อย่างไรก็ดี ระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูงคาดว่าตัวเลขเอ็นพีแอล ณ สิ้นปี 2563 มีความเสี่ยงจะปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 3%

ครึ่งปีหลังตั้งสำรองเพิ่ม

ทั้งนี้ “ปิติ” กล่าวว่า แนวโน้มการตั้งสำรองหนี้ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ ยังมีเพิ่มขึ้น จากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งทำให้คนตกงานเพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ อาทิ การช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อรถยนต์ ที่ให้เว้นจ่ายหนี้ประมาณ 3 เดือน เป็นต้น ซึ่งจะต้องจับตาดูว่าหลังจากหมดช่วงพักชำระหนี้แล้ว ลูกค้าจะสามารถกลับมาชำระหนี้ปกติได้เท่าใด

นอกจากนี้ หลังการควบรวมกิจการ พบว่าธนาคารธนชาตมีการลงทุนในหุ้นกู้ บมจ.การบินไทยอยู่ราว 3,150 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ได้ตั้งสำรองไปแล้วราว 50%และคาดการณ์ว่าหากการดำเนินการแก้หนี้ของ บมจ.การบินไทยเป็นไปตามแผน ธนาคารจะได้รับเงินคืนกลับมา

ปัจจุบันทีเอ็มบีมีอัตราส่วนเงินกองทุนรวม (CAR) และอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 (tier 1) อยู่ที่ 18.95% และ 14.62% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ เพียงพอรับมือหนี้เสียที่จะเกิดในช่วงปี 2564-2565 ขณะที่อัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อ หรือสำรองส่วนเกิน (LLR coverage) อยู่ที่ 106% และคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 114% ณ สิ้นปี 2563

จ่อระดมเงิน 2 แสนล้าน

ส่วนของแผนการระดมทุนในระยะถัดไป “ปิติ” บอกว่า ธนาคารได้ขอมติผู้ถือหุ้น อนุมัติวงเงินออกขายหุ้นกู้สกุลเงินบาทและ/หรือสกุลอื่น ๆในวงเงินไม่เกิน 200,000 ล้านบาท ทดแทนวงเงินเดิมที่ผู้ถือหุ้นได้อนุมัติไว้ในปี 2553 ที่จำนวนไม่เกิน 140,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ถือหุ้นมีมติเห็นด้วย 99.5454%

“เดิม 2 ธนาคารแยกกันออกหุ้นกู้ แต่เมื่อรวมกัน แบงก์มีขนาดใหญ่ขึ้นเท่าตัว วงเงินระดมทุนหุ้นกู้ ก็ควรจะต้องใหญ่ขึ้นตาม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะระดมทุนทันที เพราะธนาคารยังมีสภาพคล่องเพียงพอจากเงินฝากที่ล้น โดยเงินฝากรวมขยายตัว 115% มาอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากฐานเงินฝากที่เพิ่มขึ้น จากการรวมงบการเงินกับธนชาต ซึ่งมีเงินฝากรวม 7.4 แสนล้านบาท และอีกส่วนหนึ่งมาจากกระแสเงินที่ไหลออกมาจากตลาดตราสารหนี้ ในช่วงต้นปี 2563 ที่เกิดปัญหาสภาพคล่องของกองทุนรวมตราสารหนี้ รวมถึงเงินที่ไหลออกมาจากตลาดหุ้นบางส่วน”

ทั้งนี้ ธนาคารอยู่ระหว่างพิจารณานำสภาพคล่องส่วนเกินไปลงทุน แต่คงต้องใช้เวลาพิจารณาก่อน เนื่องจากยังไม่มั่นใจว่าเงินฝากที่เพิ่มขึ้น จะเป็นเงินที่เข้ามาพักระยะสั้นหรือระยะยาว

พร้อมจ่ายปันผลผู้ถือหุ้น

ส่วนการจ่ายเงินปันผล ที่นักลงทุนคาดหวังให้ธนาคารจ่ายชดเชยเงินปันผลระหว่างกาลที่หายไปนั้น “ปิติ” กล่าวว่า ธนาคารพร้อมที่จะจ่ายเงินปันผล หากสถานการณ์กลับมาดีขึ้น โดยฐานะการเงินของธนาคารในปัจจุบันยังไม่มีความเสี่ยงที่จะต้องเพิ่มทุน ส่วนราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารที่ปรับลดลงต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (P/BV) เชื่อว่าสะท้อนปัจจัยลบไปพอสมควรแล้ว

ต้องยอมรับว่า ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ธุรกิจแบงก์ก็คงต้องประคองตัวเองและลูกค้าให้อยู่รอดได้ด้วยกันไปก่อน

Let's block ads! (Why?)



"เงินฝากสามัญ" - Google News
August 21, 2020 at 04:17PM
https://ift.tt/3l8hoBg

"ปิติ" กางแผนนำ TMB ฝ่าวิกฤต ตุนสภาพคล่อง-ตั้งสำรองเพิ่มรับหนี้เสียพุ่ง - ประชาชาติธุรกิจ
"เงินฝากสามัญ" - Google News
https://ift.tt/3cRGdfx

No comments:

Post a Comment