“แสนสิริ” บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ เสนอขายหุ้นกู้ให้ผลตอบแทน 8.5% ต่อปี รอบนี้เสนอขายผู้ลงทุนทั่วไปและสถาบัน นักบริหารเงินแนะศึกษาให้ดีก่อนซื้อ หุ้นกู้ประเภทนี้ไถ่ถอนเมื่อบริษัทเลิกกิจการหรือผู้ออกขอไถ่ถอนเอง สิทธิการรับชำระหนี้เป็นรองหุ้นกู้ทั่วไป ตัวดอกเบี้ยผู้ออกมีสิทธิเลื่อนจ่ายได้ หากผู้ซื้อต้องการใช้เงินก่อนต้องขายผ่านตลาดรอง ต้องวัดดวงว่าจะมีผู้ซื้อหรือไม่และการขายต้องขายส่วนลด เงินต้นอาจได้ไม่เต็ม
จากเศรษฐกิจทั่วโลกที่ตกต่ำและลากยาวมา ทำให้ทุกประเทศต่างต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และยังต้องมาเผชิญกับสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ต่อด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่กระจายไปทั่วโลก กดดันให้แทบทุกประเทศต้องใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปอีกนาน
สำหรับประเทศไทยมติของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อ 20 พฤษภาคม 2563 ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% จาก 0.75% เหลือ 0.5% นับเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา
สัญญาณดังกล่าวส่งผลให้ไม่มีธนาคารใดออกโปรโมชั่นเงินฝากออกมา เนื่องจากไม่มีความจำเป็นในการปล่อยกู้ เพราะภาคธุรกิจต่างต้องประคองตัวไม่กล้าขยายกิจการ และการปล่อยสินเชื่อในระยะนี้ถือว่ามีความเสี่ยงไม่น้อยเช่นกัน
พันธบัตรเกลี้ยง
ในสถานการณ์เช่นนี้คนที่เก็บหอมรอมริบออมเงิน ต่างต้องประสบปัญหากับผลตอบแทนที่ต่ำมาก เงินฝากในขณะนี้เกือบทุกแห่งจะให้ดอกเบี้ยสุทธิต่ำกว่า 1% แทบทั้งสิ้น
แม้จะมีพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท จำหน่ายตั้งแต่ 14 พฤษภาคม 2563 พันธบัตรรุ่นนี้มี 2 รุ่น ดอกเบี้ยขั้นบันได 5 ปี ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 2.4% (สุทธิ 2.04%)และแบบขั้นบันได 10 ปี ดอกเบี้ยเฉลี่ย 3%(สุทธิ 2.55%)
อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรุ่นนี้นับว่าให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดไม่น้อย ทำให้ผู้คนต่างหวังจับจองพันธบัตรรุ่นนี้เพื่อผลตอบแทนที่ดีที่สุดในเวลานี้ และได้หมดลงในช่วงเช้าวันที่ 21 พฤษภาคม ที่เพิ่งพ้นรอบของผู้ซื้อที่อายุ 60 ปีขึ้นไป(14-20 พฤษภาคม 2563)มาเป็นรอบของบุคคลทั่วไปได้ไม่นาน
คนที่พลาดหวังจากพันธบัตรรุ่นดังกล่าว คงต้องรอพันธบัตรรุ่นต่อไปจากรัฐบาล แต่อัตราดอกเบี้ยอาจจะสูงหรือต่ำกว่ารุ่นเราไม่ทิ้งกันในรอบแรก ต้องขึ้นกับรัฐบาลเป็นผู้กำหนด ส่วนสลากออมทรัพย์ของธนาคารรัฐทั้ง 3 แห่ง ต่างก็ให้ดอกเบี้ยต่ำเช่นกัน รวมไปถึงการปรับลดมูลค่าของรางวัลลงและโอกาสในการถูกรางวัลค่อนข้างยาก ทำให้หลายคนให้ความสนใจกับสลากประเภทนี้น้อยลง เห็นได้จากสลากของบางธนาคารบางรุ่นก็ยังขายได้ไม่หมด
เหลียวมองหุ้นกู้
ดังนั้นตัวเลือกของการออมเงินในลักษณะที่ใกล้เคียงกับการฝากเงิน ที่หลายคนเหลือบมองกันมากขึ้นนั่นก็คือหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน ที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากของธนาคาร แม้จะต้องฝากในระยะที่ยาวนานกว่าก็ตาม
หลายคนทราบดีว่า หุ้นกู้ของบริษัทเอกชนนั้นมีความเสี่ยงมากกว่าการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์หรือออมเงินในรูปแบบของพันธบัตรรัฐบาลที่เงินต้นไม่สูญ แต่เมื่อช่องทางเดิมไม่สามารถให้ผลตอบแทนได้ในระดับที่น่าพอใจได้ ก็ต้องยอมแบกรับความเสี่ยงแลกกับผลตอบแทนที่สูงขึ้น
แม้หุ้นกู้ของบริษัทเอกชนจะมีการเสนอขายออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับประชาชนทั่วไปการเข้าถึงหุ้นกู้อาจมีข้อจำกัด ขึ้นอยู่กับผู้ออกหุ้นกู้ว่าจะเสนอขายให้กับนักลงทุนประเภทใด เช่น นักลงทุนสถาบันหรือขายให้กับบุคคลในวงจำกัด แต่ในระยะหลังได้ขยายออกมาเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปมากขึ้น
หุ้นกู้แสนสิริดอกเบี้ย 8.5%
นาทีนี้หุ้นกู้ของบริษัทแสนสิริ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่รายหนึ่ง มีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้รับการกล่าวถึงกันมาก ด้วยการเสนอดอกเบี้ย 5 ปีแรก 8.5% เตรียมขายหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 3 พันล้านบาท ช่วง 22-25 มิถุนายน 2563 เสนอขายต่อผู้ลงทุนทั่วไปและผู้ลงทุนสถาบัน
ตัวอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นกู้ที่ 8.5% นั้นถือว่าสูงกว่าดอกเบี้ยเงินกู้เสียอีก เมื่อหักภาษีเงินได้ที่ 15% แล้ว ผลตอบแทนสุทธิอยู่ที่ 7.225% หากซื้อหุ้นกู้ 1 แสนบาท ได้ดอกเบี้ยปีละ 7,225 บาท ซึ่งจ่ายดอกเบี้ยให้ทุก 3 เดือนหรืองวดละ 1,806.25 บาท ถ้าซื้อ 1 ล้านบาท ได้ดอกเบี้ยปีละ 72,250 บาท ครบ 3 เดือนได้ดอกเบี้ย 18,062.50 บาท
หลายคนอาจคาดหวังว่า ดอกเบี้ยที่ได้น่าจะทำให้การใช้ชีวิตในบั้นปลาย ดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ยากลำบากและไม่เป็นภาระของลูกหลาน แต่หุ้นกู้ด้อยสิทธิมักจะมีเงื่อนไขและข้อตกลงต่าง ๆ มากกว่าหุ้นกู้ทั่วไปจึงต้องให้อัตราดอกเบี้ยที่สูง ดังนั้นก่อนตัดสินใจใด ๆ ผู้มีเงินออมควรศึกษาข้อมูลของหุ้นกู้ดังกล่าวให้ละเอียดรอบคอบก่อน
ที่จริงหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทน 8.5% ก่อนหน้านี้บริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ก็เคยออกมา หรือบริษัททีทีซีแอล ให้ผลตอบแทน 8.75% อีกรายคือ พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ให้ดอกเบี้ย 9.5% ที่ผ่านมาหุ้นกู้ประเภทนี้มักเสนอขายกับนักลงทุนรายใหญ่หรือนักลงทุนสถาบันเป็นหลัก
หลัง 5 ปีดอกเบี้ยก็งาม
ข้อมูลสำคัญของตราสาร “หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัทซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนดและมีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1/2563” ที่ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ระบุไว้ว่า
บริษัทผู้ออกหุ้นกู้เสนอขายไม่เกิน 3 พันล้านบาท โดยเสนอขายหุ้นกู้ในกรณีทั่วไปต่อผู้ลงทุนทั่วไปและผู้ลงทุนสถาบัน อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-5 คงที่ ร้อยละ 8.50% ต่อปี
อัตราดอกเบี้ยปีที่ 6-25 เท่ากับผลรวมของ (ก) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี (ข) Initial Credit Spread และ (ค) อัตรา 0.25% ต่อปี
อัตราดอกเบี้ยปีที่ 26-50 เท่ากับผลรวมของ (ก) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี (ข) Initial Credit Spread และ (ค) อัตรา 1.00% ต่อปี
อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ปีที่ 51 เท่ากับผลรวมของ (ก) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี (ข) Initial Credit Spread และ (ค) อัตรา 2.00% ต่อปี
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยจะปรับทุก ๆ 5 ปี โดยอ้างอิงจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ณ สิ้นสุดวันทำการของสองวันทำการก่อนวันปรับอัตราดอกเบี้ย โดยที่ Initial Credit Spread จะเท่ากับอัตราคงที่ร้อยละ 7.76 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุก ๆ 3 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้ (ปัจจุบันผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี อยู่ที่ 0.83%)
ไถ่ถอนเมื่อเลิก-ดอกเบี้ยเลื่อนได้
สิ่งที่ผู้ต้องการออมเงินหรือลงทุนต้องทราบคือ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (perpetual subordinated bond) เป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีกำหนดอายุ โดยจะไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ สิทธิในการได้รับชำระคืนอยู่ลำดับถัดจากเจ้าหนี้ทั่วไป อาจได้รับคืนทั้งหมด บางส่วน หรือไม่ได้เงินคืนเลยก็ได้ แต่มีสิทธิได้รับก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ อีกลักษณะหนึ่งคือเมื่อผู้ออกหุ้นกู้ใช้สิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้
ประการสำคัญคือ ผู้ถือหุ้นกู้อาจไม่ได้รับชำระดอกเบี้ย และดอกเบี้ยค้างชำระในวันชำระดอกเบี้ยทุกครั้ง เนื่องจากบริษัทฯ มีสิทธิและดุลยพินิจแต่เพียงผู้เดียวที่จะเลื่อนการชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ บริษัทฯอาจจะไม่มีกระแสเงินสดเพียงพอหรือไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ทำให้บริษัทฯต้องมีการเลื่อนการชำระดอกเบี้ยออกไป โดยบริษัทฯ สามารถเลื่อนการชำระดอกเบี้ย และดอกเบี้ยค้างชำระได้โดยไม่จำกัดระยะเวลาและจำนวนครั้ง โดยการส่งหนังสือบอกกล่าวให้แก่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้
ทั้งนี้ การเลื่อนชำระดอกเบี้ยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ และผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยบนดอกเบี้ยค้างชำระ
คำเตือนที่สำคัญจากผู้ออกหุ้นกู้
ผู้ออกหุ้นกู้มีการพึ่งพารายได้จากธุรกิจเพื่อขายที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและแนวสูงเป็นหลัก ทำให้ธุรกิจของบริษัทอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศได้ นอกจากนี้ธุรกิจของบริษัทอาจจะได้รับผลกระทบจากการกำกับดูแลของหน่วยงานราชการด้วย อาทิเช่น มาตรการ LTV มีผลทำให้การรับรู้รายได้ของบริษัทลดน้อยลง เป็นต้น
เพื่อการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องและให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ในระยะยาวและสามารถแข่งขันได้ ทำให้ในบางช่วงปี อาทิ ปี 2561 ผู้ออกหุ้นกู้จะต้องมีการลงทุนและเปิดตัวโครงการใหม่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับในบางช่วงเวลาที่การพัฒนาโครงการเป็นการดำเนินการภายใต้การร่วมทุน จะทำให้เกิดการลดลงของรายได้จากการขายโครงการ เนื่องจากรายได้จากการขายโครงการดังกล่าว ไม่ได้ถูกบันทึกในรายได้จากการขายโครงการ ทำให้ผู้ออกหุ้นกู้มีความเสี่ยงด้านความสามารถในการชาระหนี้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ออกหุ้นกู้ไม่เคยมีประวัติการผิดนัดชำระหนี้มาก่อน และผู้ออกหุ้นกู้มียอดขายรอการรับรู้รายได้เป็นจำนวนมาก ในช่วงปี 2562-2565
ทำความเข้าใจก่อนซื้อ
ผู้บริหารการเงินให้คำแนะนำว่า หุ้นกู้ด้อยสิทธิถือว่ามีความเสี่ยงในระดับหนึ่ง อันดับความน่าเชื่อถือของทั้งหุ้นกู้และตัวบริษัทผู้ออกก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการพิจารณา อันดับความน่าเชื่อถือสูงแสดงถึงความมั่นคง ดอกเบี้ยที่เสนอให้จึงไม่สูง ส่วนอันดับความน่าเชื่อถือรองลงมาผู้ออกหุ้นกู้ย่อมต้องเสนอผลตอบแทนที่สูงกว่า
สำหรับความคาดหวังเรื่องผลตอบแทนที่ 8.5% นั้นต้องขึ้นอยู่กับผู้ออกหุ้นกู้ว่ามีความสามารถจ่ายหุ้นกู้ได้ตรงตามกำหนดหรือไม่ ซึ่งในข้อกำหนดได้เปิดทางให้ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิเลื่อนการชำระหนี้ออกไปได้ หากซื้อหุ้นกู้แล้วสถานการณ์ทางการเงินของบริษัทผู้ออกมีปัญหาแล้วเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยไปตลอดนั้น ผู้ซื้อหุ้นกู้จะยอมรับสภาพได้หรือไม่
อีกประการหนึ่งหุ้นกู้ชนิดนี้ด้านหนึ่งอาจไม่มีการไถ่ถอนเลย เว้นแต่ธุรกิจปิดกิจการ ซึ่งไม่มีใครทราบว่าเมื่อไหร่ และไม่มีการรับประกันใด ๆ ว่าจะได้รับเงินต้นคืนครบถ้วน เพราะต้องมีการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้อื่น ๆ ก่อนตามกฎหมาย
แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยในปีที่ 6 อาจจะสูงกว่าดอกเบี้ยรับช่วง 5 ปีแรก แต่ไม่ได้หมายความว่าท่านจะได้รับในอัตรานี้ตลอดไป หากผู้ออกหุ้นกู้ใช้สิทธิไถ่ถอนถือว่าความหวังเรื่องอัตราดอกเบี้ยเป็นอันจบ
ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นกู้เองไม่ต้องการถือหุ้นกู้อีกต่อไป ผู้ถือหุ้นกู้สามารถทำได้เพียงการขายหุ้นกู้ในตลาดรอง ขึ้นอยู่กับว่าจะมีผู้รับซื้อหรือไม่ และการเสนอขายนั้นโอกาสที่จะได้รับเงินต้นเต็มจำนวนย่อมมีความเป็นไปได้น้อย
ที่จริงหุ้นกู้ประเภทนี้อาจไม่เหมาะกับประชาชนทั่วไปนัก เพราะมีเงื่อนไขค่อนข้างมาก หากไม่ทำความเข้าใจให้ดีอาจตัดสินใจผิดพลาดได้ อีกทั้งการประเมินสถานการณ์ด้านการลงทุนของบุคคลทั่วไปย่อมมีข้อจำกัด รวมถึงการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่นักลงทุนสถาบันย่อมทำได้ดีกว่า
"เงินฝากสามัญ" - Google News
June 21, 2020 at 05:49AM
https://ift.tt/2Nd1Xbz
รู้ไว้ก่อนซื้อ!! “หุ้นกู้ดอกเบี้ยสูง” อาจต้องถือตลอดชาติ - ผู้จัดการออนไลน์
"เงินฝากสามัญ" - Google News
https://ift.tt/3cRGdfx
No comments:
Post a Comment